กาลครั้งหนึ่ง ณ สถานีรถไฟธนบุรี
top of page

ครั้งหนึ่ง...ณ สถานีรถไฟธนบุรี🚂

Updated: Jan 5, 2022


สถานีรถไฟธนบุรี

ถ้าพูดถึงสถานีในความทรงจำของแอดมิน นอกเหนือจาก สถานีกรุงเทพ หรือ หัวลำโพงแล้ว จะไม่พูดถึง สถานีธนบุรี คงไม่ได้ เพราะคุ้นเคยเสมือนบ้านญาติ ด้วยเพราะต้องไปขึ้นรถไฟไปบ้านสวนที่นครปฐม โดยลงที่สถานีคลองมหาสวัสดิ์ เป็นประจำเมื่อครั้งเยาว์วัย “สถานีรถไฟธนบุรี” หรือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5 สถานีรถไฟธนบุรีนั้นเป็นชื่อจริง แต่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “สถานีรถไฟบางกอกน้อย” เดิมทีพื้นบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิม ซึ่งอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริในการสร้างสถานีรถไฟสายใต้ก็มีการเวณคืนที่ดินบริเวณนี้และโปรดพระราชทานที่ดินให้ชุมชนมุสลิมย้ายไปอยู่อีกฝั่งของคลอง และทรงสร้างมัสยิดแห่งใหม่ “อันซอริซซุนนะห์ หรือ มัสยิดหลวง” พระราชทานให้อีกด้วย


ในสมัยนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างทางรถไฟสายแรกไปอยุธยาและนครราชสีมา และต่อมาก็มีการสร้างสายเหนือเพิ่มขึ้น ต่อมาสยามประเทศได้ประสบปัญหาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองจากประเทศอังกฤษในพื้นที่แหลมมลายู จึงจำเป็นต้องสร้างเส้นทางรถไฟต่อจากทางรถไฟ สถานีธนบุรี-เพชรบุรี ไปทางหัวเมืองทางภาคใต้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับดินแดนหัวเมืองใต้โดยเร็ว นอกจากนี้อังกฤษยังพยายามกดดันรัฐบาลไทยเพื่อขอมีส่วนร่วมในการสร้างรถไฟสายใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนั้นการก่อสร้างได้อยู่ในการควบคุมของหัวหน้าวิศกรเยอรมันชื่อ มร.เฮอร์มานน์ เกอร์ท (Hermann Gehrts) ชึ่งเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2439 และเสร็จและเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446 โดยในหลวง ร.5 เสด็จทรงเปิดสถานีธนบุรี ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2446 การเดินรถจากสถานีธนบุรีไปสิ้นสุด สถานีเพชรบุรี เป็นระยะทาง 150 กม. (แนะนำที่เที่ยว...เพชรบุรีดีจัง😊)

สถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือสถานีธนบุรี อาคารหลังแรกดั้งเดิมก่อนถูกระเบิด
สถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือสถานีธนบุรี อาคารหลังแรกดั้งเดิมก่อนถูกระเบิด : ภาพประกอบจาก facebook.com/fiftyplusTH

ทางการอังกฤษได้พยายามต่อต้านในการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ในครั้งนี้อย่างขันแข็ง และต้องการให้สร้างทางรถไฟไปภาคใต้เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟมลายูโดยให้ลดขนาดของรางจากรางมาตรฐานของยุโรปกว้าง 1.435 เมตร ลงเหลือเพียง รางกว้าง 1.00 เมตรเท่านั้นเพื่อประหยัดค่าก่อสร้างและเชื่อมต่อกับทางมลายูได้สะดวก และในที่สุดทางรัฐบาลไทยก็ได้ตัดสินใจต่อปัญหาดังกล่าวนี้ด้วยการยอมสร้างทางรถไฟขนาดรางกว้าง 1.00 เมตร และยอมให้อังกฤษเป็นผู้สร้างทางรถไฟต่อจากเพชรบุรีไปภาคใต้และเชื่อมต่อกับรถไฟมลายู และสยามได้ทำข้อตกลงกับอังกฤษ โดยยอมสละเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และ มะริด ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมทั้งขอให้อังกฤษยกเลิกสิทธิ์นอกอาณาเขตที่ทำกันไว้แต่ก่อน เพื่อกันกับเงินกู้จำนวน 4,630,000 ปอนด์ ให้ไทยสามารถต่อขยายเส้นทางรถไฟสายใต้จากจังหวัดเพชรบุรีไปบรรจบกับทางรถไฟของมลายูเป็นระยะทางกว่าพันกิโลเมตร และมีสถานีสุไหงโกลกเป็นสถานีสุดเขตแดนสยาม


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะได้บุกยกพลขึ้นบกหลายแห่งในประเทศไทย บีบบังคับไทยให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่าและอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองในความควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยจึงต้องกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัยขึ้นรถไฟไปยังสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อสร้างทางรถไฟต่อไปยังพม่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้คลองบางกอกน้อยจึงได้รับผลกระทบและความยากลำบากจากสงครามอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ในที่สุดสถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือ ธนบุรีแห่งนี้ และบริเวณใกล้เคียงก็ถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักและถูกทำลายลงโดยฝ่ายสัมพันธมิตร


เหตุการณ์ครั้งนี้ “ทมยันตี” ได้ยกบรรยากาศมาไว้ในนิยายเรื่อง "คู่กรรม” โดย "โกโบริ”พระเอกของเรื่อง และเป็นทหารหนุ่มนายช่างใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานประจำอู่ต่อเรือที่แถวบางกอกน้อย และถูกแรงระเบิดกระเด็นมานอนอยู่ในกองไม้ เพราะเข้าใจผิดว่าหญิงคนรักชาวไทยจะกลับไปคืนดีกับอดีตคนคนรักนามว่า วนัส และสุดท้ายความตายก็มาพรากดวงวิญญาณโกโบริไป ก่อนที่อังศุมาลินจะตามมาพบเพื่อที่จะบอกว่า เธอเป็นอิสระแล้วจากความรักครั้งเก่า และเธอรักเขามากเพียงใด เมื่อเธอได้พบกับเขา ก่อนที่จะสิ้นใจ โกโบริ หนุ่มญี่ปุ่นได้บอกกับเธอว่า จะไปรออังศุมาลินบนทางช้างเผือก เหมือนดั่งนิทานที่โกโบริเคยเล่าให้เธอฟัง ในตอนหนึ่งว่า “โปรดไปรอ ที่ตรงโน้นบนท้องฟ้า ท่ามกลางดวงดาราในสวรรค์ ข้ามชอบฟ้าดาวระยับนับอนันต์ จะไปหาคุณบนนั้น ฉันสัญญา...” จบฉากความรักข้ามเชื้อชาติระหว่าง พระเอกชาวญี่ปุ่น “โกโบริ” กับ นางเอกสาวไทย “อังศุมาลิน” ครั้งนี้อย่างแสนเศร้ากินใจ

คู่กรรม กับ สถานีรถไฟธนบุรี
ภาพประกอบจาก Dailynews

ต่อมาได้มีการสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยขึ้นมาใหม่ และเปิดใช้อาคารหลังใหม่แทนหลังเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย โดยคงรูปแบบเดิมไว้ มีตัวอาคารเป็นอิฐสีแดง หอนาฬิกา ที่สวยงามแห่งหนึ่งทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่มองจากทิศใดจะเห็นเด่นชัด แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2493 และได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า สถานีธนบุรี ให้มีการเดินรถไฟ จากสถานีไปยัง นครปฐม เพชรบุรี (ดูบทความแนะนำที่เที่ยว...เพชรบุรีดีจัง😊) หัวหิน และ กาญจนบุรี ด้วย (ดูทริปนั่งรถไฟเที่ยวกาญจนบุรี)

ภาพประกอบจาก : เฟสบุ๊คเพจ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ



การเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟครั้งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9  ณ สถานีธนบุรี
การเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟครั้งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี ในการเสด็จไปทรงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ฮันนีมูน) ที่หัวหิน วันที่ 29 เมษายน 2493 ได้เสด็จฯโดยขบวนรถไฟพิเศษพระที่นั่งจากสถานีรถไฟธนบุรีไปยังสถานีรถไฟหัวหิน เพื่อทรงประทับแรม ณ วังไกลกังวล ก่อนขบวนรถเคลื่อนออกจากสถานีธนบุรี มีข้าราชบริพารและประชาชนไปส่งเสด็จจำนวนมาก ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์อำลาด้วยความพอพระราชหฤทัย

แต่หลังจากนั้นบทบาทของสถานีธนบุรีเริ่มน้อยลง เมื่อล่วงไป 50 ปี เมื่อมีการสร้างสะพานรถไฟพระรามหก และรถไฟสายใต้หลายขบวนได้เปลี่ยนเส้นทางปลายทางไปที่ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)


สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจของสถานีธนบุรี คือ เรื่องระบบอาณัติสัญญาณ นั่นคือ สถานีธนบุรี เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่ยังคงใช้สัญญาณประจำที่ “ชนิดหางปลา” ที่ปัจจุบันทุกที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วทั้งหมด ยกเว้นที่สถานีธนบุรี และบริเวณใกล้เคียงกันมี “โรงรถจักรธนบุรี” เป็นสถานีซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถจักรดีเซลที่สำคัญแห่งหนึ่งของการรถไฟ รวมถึงเป็นที่เก็บรักษารถจักรไอน้ำที่ยังคงเหลืออยู่ที่ยังคงใช้การได้อีก 5 คันด้วย โดยรถจักรไอน้ำเหล่านี้จะนำออกมาวิ่งลากจูงในโอกาสสำคัญๆ ประมาณเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น





ในปี 2542 มีการปรับโครงการปรุบปรุงอาคารสถานีธนบุรีอีกครั้ง โดยมีการสร้างสถานีรถไฟอีกแห่งใกล้กัน ให้ชื่อว่า สถานีบางกอกน้อย อยู่ใกล้บริเวณหลังศาลาน้ำร้อน และภายหลังการรถไฟได้มอบที่ดินบริเวณสถานีธนบุรีริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 33 ไร่ ให้กับโรงพยาบาลศิริราช และเปลี่ยนไปใช้สถานีบางกอกน้อยที่สร้างขึ้นใหม่แทน ตั้งอยู่ที่ ถ. รถไฟ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย บริเวณด้านหล้งศาลาน้ำร้อน มีขบวนรถไฟวิ่งขึ้นล่องไปยังสถานีศาลายา นครปฐม หลังสวน ชุมพร สถานีน้ำตก (กาญจนบุรี) หนึ่งในเส้นทางรถไฟที่สวยติดอันดับของโลก และ สถานีราชบุรี




ส่วนสถานีบางกอกน้อยเดิม ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งแบ่งการจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ที่น่าสนใจมาก มีการจัดการพิพิธภัณฑ์ ในรูปแบบทันสมัย แตกต่างกันไปในแต่ละห้อง เริ่มจาก โถงต้อนรับ บรรยากาศการเดินทางโดยรถไฟจะหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อย่างเข้าสู่โถงต้อนรับ เดิมห้องนี้เคยเป็นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารของสถานีธนบุรี จุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายใต้ ถัดไปคือ ห้องศริสารประพาส เป็นการเริ่มต้นการนำเสนอสาระของพิพิธภัณฑ์ ผ่านวิดิทัศน์และสิ่งแสดงในบรรรยกาศแบบห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นไม้สักทองเดิมที่นักศึกษาแพทย์เคยใช้เรียนหนังสือมาก่อน



จากนั้นจะเป็น ห้องศิริราชขัตติยพิมาน เพื่อให้ได้น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่ที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราชและการแพทย์ของไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน

ห้องศิริราชขัตติยพิมาน


ส่วนอื่นๆ ที่แอดมินสนใจเป็นพิเศษอีกเช่นกัน อาทิ แผนที่เมืองธนบุรี ห้องโบราณราชศัสตรา ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุขของไทย” ผู้ทรงเป็นแบบอย่างแห่งความเพียร อุตสาหะและการเสียสละ โดยเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ



การจัดแสดงอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนกายวิภาคศาสตร์ที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนรู้จัก และเรียกขานอย่างเคารพว่า “อาจารย์ใหญ่” โดยโต๊ะที่จัดแสดงเคยผ่านการรองรับร่างของ “อาจารย์ใหญ่” มารุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่สำคัญแอดมินเองรู้สึกชื่นชมในหัวใจอันยิ่งใหญ่ที่ทุกท่านได้สละร่างกายหลังความตายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน


ส่วนการจัดแสดงเรือโบราณ ที่มีความยางถึง 24 เมตร ถูกฝังกลบมานานกว่า 100 ปี ถือว่าเป็นเรือไม้ลำใหญ่ที่สุดของประเทศที่เคยขุดค้นได้ เป็นหนึ่งในมรดกทางวันธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย มีการแสดงวิดีทัศน์ถึงความสามารถของช่างไทยในการซ่อมบำรุงต่อชิ้นส่วนของเรือประกอบขึ้นดังที่จัดแสดงให้เราได้เห็นกันค่ะ


ส่วนจัดแสดงวีถีชีวิตชาวบางกอกน้อย การก่อสร้างสถานีรถไฟธนบุรี ตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 5 รวมถึงรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระอริยสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีจริยวัตรน่าเลื่อมใส เป็นพระมหาเถระที่ได้รับความศรัทธาเคารพตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงคนธรรมดา



และมีอีกหลายห้องที่น่าสนใจทุกห้อง หากท่านใดมีเวลาอยากแนะนำให้ลองใช้วันว่างหากไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดี ลองแวะมาชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ก็ได้ความรู้ และสนุกเพลิดเพลินไปพร้อมกันด้วยค่ะ รวมถึงอีก 2 อาคารคือ อาคารอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 และอาคารกายวิภาคชั้น 1 และ 3 ด้วย ช่วงนี้บัตรสำหรับคนไทยจากราคาปกติ 150 บาท จ่ายเพียง 80 บาทเท่านั้นค่ะ ผู้พิการเข้าฟรี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ชำระเพียงครึ่งราคา รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนค่ะ




ดูโปรแกรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จากลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👇



อย่าลืม "กดแอดไลน์" เพื่อรับโปรโมชั่นรายการพิเศษก่อนใคร!



ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง

  • www.thonburidepot.com

  • หนังสือศิลปวัฒนธรรม

  • การรถไฟแห่งประเทศไทย


เรียบเรียงโดย #GetawayHolidays จาก บริษัท บายนาว จำกัด

ภาพโดย : #GetawayHolidays จาก บริษัท บายนาว จำกัด และ เฟสบุ๊คเพจ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

bottom of page