Jan 4, 20222 min

ครั้งหนึ่ง...ณ สถานีรถไฟธนบุรี🚂

Updated: Jan 5, 2022

ถ้าพูดถึงสถานีในความทรงจำของแอดมิน นอกเหนือจาก สถานีกรุงเทพ หรือ หัวลำโพงแล้ว จะไม่พูดถึง สถานีธนบุรี คงไม่ได้ เพราะคุ้นเคยเสมือนบ้านญาติ ด้วยเพราะต้องไปขึ้นรถไฟไปบ้านสวนที่นครปฐม โดยลงที่สถานีคลองมหาสวัสดิ์ เป็นประจำเมื่อครั้งเยาว์วัย “สถานีรถไฟธนบุรี” หรือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ 5 สถานีรถไฟธนบุรีนั้นเป็นชื่อจริง แต่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “สถานีรถไฟบางกอกน้อย” เดิมทีพื้นบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิม ซึ่งอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริในการสร้างสถานีรถไฟสายใต้ก็มีการเวณคืนที่ดินบริเวณนี้และโปรดพระราชทานที่ดินให้ชุมชนมุสลิมย้ายไปอยู่อีกฝั่งของคลอง และทรงสร้างมัสยิดแห่งใหม่ “อันซอริซซุนนะห์ หรือ มัสยิดหลวง” พระราชทานให้อีกด้วย

ในสมัยนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างทางรถไฟสายแรกไปอยุธยาและนครราชสีมา และต่อมาก็มีการสร้างสายเหนือเพิ่มขึ้น ต่อมาสยามประเทศได้ประสบปัญหาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองจากประเทศอังกฤษในพื้นที่แหลมมลายู จึงจำเป็นต้องสร้างเส้นทางรถไฟต่อจากทางรถไฟ สถานีธนบุรี-เพชรบุรี ไปทางหัวเมืองทางภาคใต้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับดินแดนหัวเมืองใต้โดยเร็ว นอกจากนี้อังกฤษยังพยายามกดดันรัฐบาลไทยเพื่อขอมีส่วนร่วมในการสร้างรถไฟสายใต้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนั้นการก่อสร้างได้อยู่ในการควบคุมของหัวหน้าวิศกรเยอรมันชื่อ มร.เฮอร์มานน์ เกอร์ท (Hermann Gehrts) ชึ่งเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2439 และเสร็จและเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446 โดยในหลวง ร.5 เสด็จทรงเปิดสถานีธนบุรี ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2446 การเดินรถจากสถานีธนบุรีไปสิ้นสุด สถานีเพชรบุรี เป็นระยะทาง 150 กม. (แนะนำที่เที่ยว...เพชรบุรีดีจัง😊)

สถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือสถานีธนบุรี อาคารหลังแรกดั้งเดิมก่อนถูกระเบิด : ภาพประกอบจาก facebook.com/fiftyplusTH

ทางการอังกฤษได้พยายามต่อต้านในการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ในครั้งนี้อย่างขันแข็ง และต้องการให้สร้างทางรถไฟไปภาคใต้เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟมลายูโดยให้ลดขนาดของรางจากรางมาตรฐานของยุโรปกว้าง 1.435 เมตร ลงเหลือเพียง รางกว้าง 1.00 เมตรเท่านั้นเพื่อประหยัดค่าก่อสร้างและเชื่อมต่อกับทางมลายูได้สะดวก และในที่สุดทางรัฐบาลไทยก็ได้ตัดสินใจต่อปัญหาดังกล่าวนี้ด้วยการยอมสร้างทางรถไฟขนาดรางกว้าง 1.00 เมตร และยอมให้อังกฤษเป็นผู้สร้างทางรถไฟต่อจากเพชรบุรีไปภาคใต้และเชื่อมต่อกับรถไฟมลายู และสยามได้ทำข้อตกลงกับอังกฤษ โดยยอมสละเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และ มะริด ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมทั้งขอให้อังกฤษยกเลิกสิทธิ์นอกอาณาเขตที่ทำกันไว้แต่ก่อน เพื่อกันกับเงินกู้จำนวน 4,630,000 ปอนด์ ให้ไทยสามารถต่อขยายเส้นทางรถไฟสายใต้จากจังหวัดเพชรบุรีไปบรรจบกับทางรถไฟของมลายูเป็นระยะทางกว่าพันกิโลเมตร และมีสถานีสุไหงโกลกเป็นสถานีสุดเขตแดนสยาม

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายอักษะได้บุกยกพลขึ้นบกหลายแห่งในประเทศไทย บีบบังคับไทยให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่าและอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองในความควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยจึงต้องกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัยขึ้นรถไฟไปยังสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อสร้างทางรถไฟต่อไปยังพม่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้คลองบางกอกน้อยจึงได้รับผลกระทบและความยากลำบากจากสงครามอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ในที่สุดสถานีรถไฟบางกอกน้อย หรือ ธนบุรีแห่งนี้ และบริเวณใกล้เคียงก็ถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักและถูกทำลายลงโดยฝ่ายสัมพันธมิตร

เหตุการณ์ครั้งนี้ “ทมยันตี” ได้ยกบรรยากาศมาไว้ในนิยายเรื่อง "คู่กรรม” โดย "โกโบริ”พระเอกของเรื่อง และเป็นทหารหนุ่มนายช่างใหญ่ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานประจำอู่ต่อเรือที่แถวบางกอกน้อย และถูกแรงระเบิดกระเด็นมานอนอยู่ในกองไม้ เพราะเข้าใจผิดว่าหญิงคนรักชาวไทยจะกลับไปคืนดีกับอดีตคนคนรักนามว่า วนัส และสุดท้ายความตายก็มาพรากดวงวิญญาณโกโบริไป ก่อนที่อังศุมาลินจะตามมาพบเพื่อที่จะบอกว่า เธอเป็นอิสระแล้วจากความรักครั้งเก่า และเธอรักเขามากเพียงใด เมื่อเธอได้พบกับเขา ก่อนที่จะสิ้นใจ โกโบริ หนุ่มญี่ปุ่นได้บอกกับเธอว่า จะไปรออังศุมาลินบนทางช้างเผือก เหมือนดั่งนิทานที่โกโบริเคยเล่าให้เธอฟัง ในตอนหนึ่งว่า “โปรดไปรอ ที่ตรงโน้นบนท้องฟ้า ท่ามกลางดวงดาราในสวรรค์ ข้ามชอบฟ้าดาวระยับนับอนันต์ จะไปหาคุณบนนั้น ฉันสัญญา...” จบฉากความรักข้ามเชื้อชาติระหว่าง พระเอกชาวญี่ปุ่น “โกโบริ” กับ นางเอกสาวไทย “อังศุมาลิน” ครั้งนี้อย่างแสนเศร้ากินใจ

ภาพประกอบจาก Dailynews

ต่อมาได้มีการสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยขึ้นมาใหม่ และเปิดใช้อาคารหลังใหม่แทนหลังเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย โดยคงรูปแบบเดิมไว้ มีตัวอาคารเป็นอิฐสีแดง หอนาฬิกา ที่สวยงามแห่งหนึ่งทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่มองจากทิศใดจะเห็นเด่นชัด แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2493 และได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า สถานีธนบุรี ให้มีการเดินรถไฟ จากสถานีไปยัง นครปฐม เพชรบุรี (ดูบทความแนะนำที่เที่ยว...เพชรบุรีดีจัง😊) หัวหิน และ กาญจนบุรี ด้วย (ดูทริปนั่งรถไฟเที่ยวกาญจนบุรี)

ภาพประกอบจาก : เฟสบุ๊คเพจ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

การเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟครั้งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี ในการเสด็จไปทรงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ฮันนีมูน) ที่หัวหิน วันที่ 29 เมษายน 2493 ได้เสด็จฯโดยขบวนรถไฟพิเศษพระที่นั่งจากสถานีรถไฟธนบุรีไปยังสถานีรถไฟหัวหิน เพื่อทรงประทับแรม ณ วังไกลกังวล ก่อนขบวนรถเคลื่อนออกจากสถานีธนบุรี มีข้าราชบริพารและประชาชนไปส่งเสด็จจำนวนมาก ทั้งสองพระองค์ทรงโบกพระหัตถ์อำลาด้วยความพอพระราชหฤทัย

แต่หลังจากนั้นบทบาทของสถานีธนบุรีเริ่มน้อยลง เมื่อล่วงไป 50 ปี เมื่อมีการสร้างสะพานรถไฟพระรามหก และรถไฟสายใต้หลายขบวนได้เปลี่ยนเส้นทางปลายทางไปที่ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจของสถานีธนบุรี คือ เรื่องระบบอาณัติสัญญาณ นั่นคือ สถานีธนบุรี เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่ยังคงใช้สัญญาณประจำที่ “ชนิดหางปลา” ที่ปัจจุบันทุกที่ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วทั้งหมด ยกเว้นที่สถานีธนบุรี และบริเวณใกล้เคียงกันมี “โรงรถจักรธนบุรี” เป็นสถานีซ่อมบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถจักรดีเซลที่สำคัญแห่งหนึ่งของการรถไฟ รวมถึงเป็นที่เก็บรักษารถจักรไอน้ำที่ยังคงเหลืออยู่ที่ยังคงใช้การได้อีก 5 คันด้วย โดยรถจักรไอน้ำเหล่านี้จะนำออกมาวิ่งลากจูงในโอกาสสำคัญๆ ประมาณเพียงปีละ 6 ครั้งเท่านั้น

(อ่านบทความ > รถจักรไอน้ำ รถไฟรุ่นบุกเบิก มนต์เสน่ห์ที่ทรงคุณค่า กับการเดินทางยาวนานกว่า 124 ปี)

ในปี 2542 มีการปรับโครงการปรุบปรุงอาคารสถานีธนบุรีอีกครั้ง โดยมีการสร้างสถานีรถไฟอีกแห่งใกล้กัน ให้ชื่อว่า สถานีบางกอกน้อย อยู่ใกล้บริเวณหลังศาลาน้ำร้อน และภายหลังการรถไฟได้มอบที่ดินบริเวณสถานีธนบุรีริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 33 ไร่ ให้กับโรงพยาบาลศิริราช และเปลี่ยนไปใช้สถานีบางกอกน้อยที่สร้างขึ้นใหม่แทน ตั้งอยู่ที่ ถ. รถไฟ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย บริเวณด้านหล้งศาลาน้ำร้อน มีขบวนรถไฟวิ่งขึ้นล่องไปยังสถานีศาลายา นครปฐม หลังสวน ชุมพร สถานีน้ำตก (กาญจนบุรี) หนึ่งในเส้นทางรถไฟที่สวยติดอันดับของโลก และ สถานีราชบุรี

คลิก > ชมทริปรถไฟเที่ยวกาญจนบุรีเส้นทางรถไฟสายสวยติดอันดับของโลก🚂

ส่วนสถานีบางกอกน้อยเดิม ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งแบ่งการจัดแสดงเป็นห้องต่างๆ ที่น่าสนใจมาก มีการจัดการพิพิธภัณฑ์ ในรูปแบบทันสมัย แตกต่างกันไปในแต่ละห้อง เริ่มจาก โถงต้อนรับ บรรยากาศการเดินทางโดยรถไฟจะหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อย่างเข้าสู่โถงต้อนรับ เดิมห้องนี้เคยเป็นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารของสถานีธนบุรี จุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายใต้ ถัดไปคือ ห้องศริสารประพาส เป็นการเริ่มต้นการนำเสนอสาระของพิพิธภัณฑ์ ผ่านวิดิทัศน์และสิ่งแสดงในบรรรยกาศแบบห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นไม้สักทองเดิมที่นักศึกษาแพทย์เคยใช้เรียนหนังสือมาก่อน

จากนั้นจะเป็น ห้องศิริราชขัตติยพิมาน เพื่อให้ได้น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นผู้ใหญ่ที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราชและการแพทย์ของไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน

ส่วนอื่นๆ ที่แอดมินสนใจเป็นพิเศษอีกเช่นกัน อาทิ แผนที่เมืองธนบุรี ห้องโบราณราชศัสตรา ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุขของไทย” ผู้ทรงเป็นแบบอย่างแห่งความเพียร อุตสาหะและการเสียสละ โดยเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

การจัดแสดงอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนกายวิภาคศาสตร์ที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนรู้จัก และเรียกขานอย่างเคารพว่า “อาจารย์ใหญ่” โดยโต๊ะที่จัดแสดงเคยผ่านการรองรับร่างของ “อาจารย์ใหญ่” มารุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่สำคัญแอดมินเองรู้สึกชื่นชมในหัวใจอันยิ่งใหญ่ที่ทุกท่านได้สละร่างกายหลังความตายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนการจัดแสดงเรือโบราณ ที่มีความยางถึง 24 เมตร ถูกฝังกลบมานานกว่า 100 ปี ถือว่าเป็นเรือไม้ลำใหญ่ที่สุดของประเทศที่เคยขุดค้นได้ เป็นหนึ่งในมรดกทางวันธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย มีการแสดงวิดีทัศน์ถึงความสามารถของช่างไทยในการซ่อมบำรุงต่อชิ้นส่วนของเรือประกอบขึ้นดังที่จัดแสดงให้เราได้เห็นกันค่ะ

ส่วนจัดแสดงวีถีชีวิตชาวบางกอกน้อย การก่อสร้างสถานีรถไฟธนบุรี ตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 5 รวมถึงรูปปั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระอริยสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีจริยวัตรน่าเลื่อมใส เป็นพระมหาเถระที่ได้รับความศรัทธาเคารพตั้งแต่กษัตริย์ไปจนถึงคนธรรมดา

และมีอีกหลายห้องที่น่าสนใจทุกห้อง หากท่านใดมีเวลาอยากแนะนำให้ลองใช้วันว่างหากไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนดี ลองแวะมาชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ก็ได้ความรู้ และสนุกเพลิดเพลินไปพร้อมกันด้วยค่ะ รวมถึงอีก 2 อาคารคือ อาคารอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 และอาคารกายวิภาคชั้น 1 และ 3 ด้วย ช่วงนี้บัตรสำหรับคนไทยจากราคาปกติ 150 บาท จ่ายเพียง 80 บาทเท่านั้นค่ะ ผู้พิการเข้าฟรี ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ชำระเพียงครึ่งราคา รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนค่ะ

ดูโปรแกรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จากลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👇

อย่าลืม "กดแอดไลน์" เพื่อรับโปรโมชั่นรายการพิเศษก่อนใคร!

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง

  • www.thonburidepot.com

  • หนังสือศิลปวัฒนธรรม

  • การรถไฟแห่งประเทศไทย

เรียบเรียงโดย #GetawayHolidays จาก บริษัท บายนาว จำกัด

ภาพโดย : #GetawayHolidays จาก บริษัท บายนาว จำกัด และ เฟสบุ๊คเพจ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

    44080
    1